ต้นประดู่

ต้นประดู่


ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pterocarpus indicus Willd.
วงศ์ : Fabaceae
ชื่อสามัญ : Burma Padauk, Narra, Angsana Norra, Malay Padauk, Burmese Rosewood,
                 Andaman Redwood, Amboyna Wood, Indian rosewood

ชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ : ดู่บ้าน, ประดู่บ้าน ประดู่ลาย ประดู่กิ่งอ่อน อังสนา, สะโน, ดู่, ประดู่ป่า, ประดู่ไทย


ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้นประดู่
       เป็นพรรณไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศมาเลเซีย และอยู่ในแถบอันดามัน มัทราช เบงกอล ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ต้นประดู่จัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 20-25 เมตร หรืออาจสูงกว่า จะผลัดใบก่อนการออกดอก แตกกิ่งก้านเป็นทรงพุ่มกว้าง และปลายกิ่งห้อยลง เปลือกลำต้นหนาเป็นสีน้ำตาลเทา แตกหยาบ ๆ เป็นร่องลึก ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ดและวิธีการปักชำกิ่ง เจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนซุย ต้องการน้ำปานกลาง เป็นพรรณไม้กลางแจ้ง ชอบแสงแดดจัด มักพบขึ้นตามป่าเบญจพรรณทางภาคใต้ สามารถปลูกได้ทั่วไป



ใบประดู่
       ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกปลายคี่ ออกรวมกันเป็นช่อ ๆ ใบออกเรียงสลับ แต่ละช่อจะมีใบย่อยประมาณ 7-13 ใบ ลักษณะของใบย่อยเป็นรูปมนรี รูปไข่ หรือรูปขอบขนาน ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือค่อนข้างแหลม ส่วนขอบใบเรียบไม่มีหยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 4-13 เซนติเมตร แผ่นใบหนาเป็นสีเขียว ผิวใบมีขนสั้น ๆ ปกคลุมด้านท้องใบมากกว่าด้านหลังใบ ก้านใบอ่อนมีขนขึ้นปกคลุมเล็กน้อย เส้นแขนงใบถี่โค้งไปตามรูปใบ เป็นระเบียบ โคนก้านใบมีหูใบ 2 อัน ลักษณะเป็นเส้นยาว





ดอกประดู่
       ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกบริเวณซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง โคนก้านมีใบประดับ 1-2 อัน ลักษณะเป็นรูปรี กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วยสีเขียว ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองแกมแสด ลักษณะของกลีบเป็นรูปผีเสื้อ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็น 2-3 กลุ่ม ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอมแรง จะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน






ผลประดู่
       ผลเป็นผลแห้งแบบ samaroid ลักษณะของผลเป็นรูปกลมหรือรีแบน ที่ขอบมีปีกบางคล้ายกับใบโดยรอบคล้าย ๆ จานบิน แผ่นปีกบิดและเป็นคลื่นเล็กน้อย นูนตรงกลางลาดไปยังปีก ผลมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 4-7 เซนติเมตร ส่วนบริเวณปีกยาวประมาณ 1-2.5 เซนติเมตร ที่ผิวมีขนละเอียด ตรงกลางนูนป่องเป็นที่อยู่ของเมล็ด โดยภายในจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด เมล็ดมีความนูนประมาณ 5-8 มิลลิเมตร ผลอ่อนเป็นสีเขียวแกมเหลือง เมื่อแก่แล้วจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน ผิวสัมผัสขรุขระเมื่อผลแก่ ส่วนเมล็ดมีลักษณะคล้ายกับเมล็ดถั่วแดง ผิวเรียบสีน้ำตาล ยาวประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร







สรรพคุณของประดู่


  1. เปลือกต้นมีรสฝาดจัด มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย (เปลือกต้น)
  2. แก่นเนื้อไม้ประดู่ มีรสขมฝาดร้อน มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต บำรุงกำลัง บำรุงธาตุในร่างกาย (แก่น)
  3. แก่นเนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ (แก่น)ส่วนรากใช้เป็นยาแก้ไข้ แก้พิษไข้ (ราก)
  4. แก่นเนื้อไม้ใช้ต้มกับน้ำกินเป็นยาแก้เสมหะ (แก่น)
  5. ใบนำมาตากแห้งใช้ชงกับน้ำร้อนเป็นชาใบประดู่ นำมาดื่มจะช่วยบรรเทาอาการระคายคอได้ (ใบ)
  6. ช่วยแก้เลือดกำเดาไหล ด้วยการใช้แก่นเนื้อไม้นำมาต้มกับน้ำกินเป็นยา (แก่น)
  7. ผลมีรสฝาดสมาน มีสรรพคุณเป็นยาแก้อาเจียน (ผล)
  8. เปลือกต้นใช้เป็นยาแก้ปากเปื่อย ปากแตก (เปลือกต้น) ส่วนยางก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้โรคปากเปื่อยได้เช่นกัน (ยาง)
  9. ผลมีสรรพคุณเป็นยาแก้ท้องร่วง (ผล)
  10. เปลือกต้นและยางมีสรรพคุณเป็นยาแก้อาการท้องเสีย (เปลือกต้น, ยาง)
  11. ใช้เป็นยาแก้โรคบิด (เปลือกต้น)
  12. แก่นมีสรรพคุณเป็นยาขับยาเสมหะ (แก่น)
  13. ใบอ่อนนำมาตำให้ละเอียด ใช้เป็นยาพอกแผล พอกฝี จะช่วยทำให้ฝีสุกหรือแห้งเร็ว (ใบอ่อน)
  14. ใบอ่อนใช้ตำพอกแก้ผดผื่นคัน (ใบอ่อน) ส่วนแก่นก็มีสรรพคุณเป็นยาแก้ผื่นคันเช่นกัน (แก่น)
  15. ยางไม้ประดู่มีสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “Gum Kino” สามารถนำมาใช้เป็นยาแก้โรคท้องเสียได้
    (ยางไม้)
  16. แก่นเนื้อไม้ใช้เป็นยาแก้โรคคุดทะราด ด้วยการนำแก่นไม้มาต้มกับน้ำกิน (แก่น)
  17. เปลือกต้นมีรสฝาด มีสรรพคุณเป็นยาสมานบาดแผล (เปลือกต้น)

ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของประดู่

  1. เมื่อนำส่วนของเปลือก ราก และใบมาสกัดด้วยตัวทำละลาย พบว่าสารที่พบได้ในทุกส่วนของประดู่ คือ Flavonoid Tannin และ Saponin ส่วนสารสำคัญที่ได้จากการค้นคว้าข้อมูลอื่น พบว่ามีสาร Angiolensin Homopterocarpin, Formonoetin, Isoliquirtigenin, Narrin , Pterostilben, Pterocarpin, Pterofuran, Pterocarpon, Prunetin, Santalin, P-hydroxyhydratropic acid, β-eudesmol ส่วนใบพบว่ามีคลอโรฟิลล์ 3 ชนิด คือ Chlorophyll a Chlorophyll b และ Xanthophyll
  2. ประดู่มีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย แก้อาการปวด ทำให้กล้ามเนื้อเรียบคลายตัว ยับยั้งการแบ่งเซลล์ ยับยั้งเอนไซม์ Ornithine decarboxylase และยับยั้ง Plasmin ฤทธิ์คล้ายเลคติน ทำให้เม็ดเลือดแดงเกาะกลุ่มกัน
  3. จากการทดสอบความเป็นพิษ โดยใช้สารสกัดด้วยเอทานอลจากส่วนที่อยู่เหนือดินของต้นประดู่ 50% เมื่อนำมาฉีดเข้าท้องของหนูถีบจักรทดลอง พบว่าขนาดที่ทำให้หนูตายคือขนาดมากกว่า 1 กรัม

ประโยชน์ของต้นประดู่

  1. ใบอ่อนและดอกประดู่สามารถนำมาลวกรับประทานเป็นอาหารได้ และยังสามารถนำมาชุบแป้งทอดรับประทานกับน้ำจิ้มเป็นอาหารว่างได้อีกด้วย
  2. ไม้ประดู่ เป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ มีคุณภาพดี เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง เนื้อละเอียดปานกลาง ปลวกไม่ทำลาย สีสวย มีลวดลายสวยงาม ตกแต่งขัดเงาได้ดี นิยมนำมาใช้สร้างบ้านเรือน ทำฝาบ้าน พื้นบ้าน ทำเสา ทำคาน ใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเรือนต่าง ๆ หรือนำมาใช้ทำเกวียน ทำเรือคานและเรือทั่ว ๆ ไป รวมทั้งส่วนประกอบต่าง ๆ ของเรือด้วย เพราะไม้ประดู่มีคุณสมบัติทนน้ำเค็ม ทำเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ด้ามมีด จานรองแก้ว ทัพพี ฯลฯ เครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ระนาด เป็นต้น นอกจากนี้ประดู่บางต้นยังเกิดปุ่มตามลำต้น หรือที่เรียกว่า “ปุ่มประดู่” จึงทำให้ได้เนื้อไม้ที่มีคุณภาพสูงและงดงาม แต่จะมีราคาแพงมากและหาได้ยาก นิยมนำมาใช้ทำเครื่องเรือนและเครื่องมือเครื่องใช้ได้อย่างดีเยี่ยม
  3. เปลือกให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง เปลือกและแก่นประดู่ยังสามารถนำมาใช้ย้อมสีผ้าได้ดี โดยเปลือกจะให้สีน้ำตาล ส่วนแก่นจะให้สีแดงคล้ำ
  4. ใบมีรสฝาด สามารถนำมาชงกับน้ำใช้สระผมได้
  5. คนไทยนิยมนำต้นประดู่มาปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารหรือสถานที่สาธารณะ เช่น ตามสวนหรือทางเดินเท้า ปลูกเป็นไม้ให้ร่มเงาและให้ความสวยงาม อีกทั้งยังช่วยกำจัดอากาศเสีย ช่วยกรองฝุ่นละออง และกันลมกันเสียงได้ดีอีกด้วย ดังจะเห็นได้ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงเทพฯ ที่จะใช้ประโยชน์จากต้นประดู่มากเป็นพิเศษ
  6. ในด้านเชิงอนุรักษ์ ต้นประดู่เป็นไม้เรือนยอดกลมโต มีความแข็งแรง สามารถช่วยป้องกันลมและคลุมดินให้ร่มเย็นชุ่มชื้นได้ และยังช่วยรองรับน้ำฝนช่วยลดแรงปะทะหน้าดิน ประกอบกับมีระบบรากหยั่งลึกและแผ่กว้างที่ช่วยยึดหน้าดินไว้ไม่ให้พังทลายได้ง่าย และรากที่มีปมขนาดใหญ่ยังช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศมาเก็บไว้ในรูปของไนโตรเจนที่เป็นประโยชน์อีกด้วย ส่วนใบที่หนาแน่น เมื่อร่วงหล่นก็จะเกิดการผุพังกลายเป็นธาตุอาหารอินทรียวัตถุให้แก่ดินได้เป็นอย่างดี
  7. ในด้านข้อความเชื่อ หากบ้านใดปลูกต้นประดู่ไว้เป็นไม้ประจำบ้าน เชื่อว่าจะช่วยทำให้เกิดพลังแห่งความยิ่งใหญ่ เพราะประดู่หมายถึงความพร้อม ความร่วมมือร่วมใจสามัคคี มีพลังเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ให้ปลูกต้นประดู่ไว้ทางทิศตะวันตกและให้ปลูกในวันเสาร์ เพราะคนโบราณเชื่อว่าการปลูกไม้เพื่อเอาคุณให้ปลูกกันในวันเสาร์ และถ้าจะให้เป็นมงคลยิ่งขึ้นไปอีก ผู้ปลูกควรจะเป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพนับถือและเป็นผู้ที่ประกอบคุณงามความดีก็จะเป็นสิริมงคลมากยิ่งขึ้น
  8. ในด้านของการเป็นสัญลักษณ์ ดอกประดู่เป็นสัญลักษณ์ของกองทัพเรือไทย เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดอุตรดิตถ์ และเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่า ส่วนต้นประดู่เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดภูเก็ต และโรงเรียนอีกหลายแห่งในประเทศไทย



อ้างอิง : https://medthai.com/ประดู่บ้าน/

ความคิดเห็น

  1. As reported by Stanford Medical, It is in fact the SINGLE reason this country's women get to live 10 years more and weigh on average 19 KG lighter than we do.

    (By the way, it is not about genetics or some secret diet and absolutely EVERYTHING related to "how" they eat.)

    P.S, What I said is "HOW", and not "WHAT"...

    Tap on this link to reveal if this quick questionnaire can help you unlock your real weight loss possibility

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ต้นคริสติน่า

ต้นปาล์มขวด

ต้นไทรย้อย