ต้นจามจุรี
ต้นจามจุรี
ชื่อวงศ์ : Leguminosae-Minosoideae
ชื่ออื่นๆ : ต้นฉำฉา/สำสา หรือ ต้นก้ามปู
ต้นจามจุรี เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีอายุได้นานเป็นร้อยปี มีลำต้นสูงได้มากกว่า 25 เมตร และมีขนาดทรงพุ่มกว้างได้มากกว่า 25 เมตร มักพบทั่วไปตามข้างถนน หัวไร่ ปลายนา และตามสถานที่ราชการต่างๆ นิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาจากเรือนยอดที่แผ่กว้าง การให้เนื้อไม้สำหรับทำเครื่องเรือนเนื่องจากมีลวดลายสวย และการปลูกเพื่อเลี้ยงครั่งเป็นหลัก
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ราก และลำต้นรากจามจุรีมีระบบเป็นรากแก้ว และแตกรากแขนงออกด้านข้าง รากแขนงมักแทงออกตามแนวนอนขนานกับผิวดินในระดับตื้นที่อาจยาวได้มากกว่า 10 เมตร เพื่อเป็นฐานพยุงลำต้นที่มีลักษณะทรงพุ่มกว้างใหญ่ ลำต้นมี ลักษณะค่อนข้างกลม ไม่สมมาตร แตกกิ่งในระดับต่ำประมาณ 3-5 เมตร กิ่งประกอบด้วยกิ่งหลัก และกิ่งแขนง เปลือกลำต้นของต้นอ่อนมีสีขาวเทา เมื่อต้นแก่จะมีสีดำเป็นแผ่นสะเก็ด กิ่งอ่อนมีสีขาวเทา กิ่งแก่มีสีน้ำตาล
ใบ
ใบมีลักษณะเป็นใบประกอบแบบขนนก โคนใบเล็ก ปลายใบมนกว้าง ประกอบด้วยก้านใบหลัก และก้านใบย่อย โดยก้านใบหลักจะแทงออกบริเวณปลายกิ่ง เรียงสลับข้างกัน ก้านใบหลัก 1 ก้าน มีก้านใบย่อยประมาณ 4-6 คู่ แต่ละคู่อยู่ตรงข้ามกันบนก้านใบ ก้านใบแต่ละคู่ มีจำนวนใบย่อยแตกต่างกัน ก้านคู่แรกจะมีจำนวนใบย่อยน้อยที่สุด 2-3 คู่ใบย่อย ส่วนก้านใบย่อยคู่ที่ 3-5 จะมีใบย่อยประมาณ 56 คู่ ใบอ่อนมีสีเขียวอ่อน ใบแก่มีสีเขียวเข้ม สีเหลือง และสีน้ำตาลตามลำดับจนถึงระยะร่วงของใบ ใบจะแตกออกบริเวณกิ่งแขนงบริเวณปลายยอด ไม่พบใบที่กิ่งหลัก
ดอก
ดอกจามจุรีเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ที่มีดอกตัวผู้ และดอกตัวเมียในต้นเดียวกัน ดอกออกเป็นช่อ แทงออกบริเวณปลายกิ่งเหนือซอกใบ มีก้านช่อดอกยาว กลีบดอกสั้นเล็กสีเหลือง เมื่อดอกบานจะแตกก้านเกสรออกมาให้เห็น เป็นสีสวยงาม ประกอบด้วยเกสรตัวผู้ที่เป็นเส้นยาวจำนวนมาก เมื่อดอกบานเกสรจะมีสีขาว และเมื่อแก่ปลายเกสรจะมีสีชมพูสวยงาม
ผลหรือฝัก
ผลมีลักษณะเป็นฝัก รูปทรงแบนยาว คล้ายฝักถั่ว ฝักอ่อนมีสีเขียว ฝักแก่มีสีน้ำตาลจนถึงดำเมื่อฝักสุก ฝักแก่กว้างประมาณ 3-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 10-15 เซนติเมตร ขอบฝักเป็นแนวตรงเสมอกัน และมีเส้นสีเหลืองตามขอบ ร่องฝักนูนบริเวณที่มีเมล็ด และถูกหุ้มด้วยเนื้อผลสีน้ำตาล และช่วงระหว่างเมล็ดเป็นร่องที่ประกอบด้วยเนื้อสีน้ำตาลเช่นกัน เนื้อผลจามจุรีมีรสหอม และหวานมาก สามารถนำมารับประทานได้
ประโยชน์จามจุรี
- เนื้อไม้ ใช้นำมาแปรรูปเป็นไม้ก่อสร้างบ้าน ไม้ปูพื้น ไม้ฝ้า ไม้ผนัง คาน ขอบหน้าต่าง หน้าต่าง บานประตู และที่สำคัญนิยมใช้ทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ได้หลายชนิด เนื่องจากมีลายไม้ที่สวยงาม และเนื้อไม้แข็งแรง เช่น ทำโต๊ะ เก้าอี้ ตู้เสื้อผ้า เป็นต้น รวมถึงงานแกะสลักประเภทต่างๆ เนื่องจากมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เมื่อขัดจะขึ้นเงามันงาม เนื้อไม้ จามจุรีวงนอกจะมีสีขาวเหลือง ด้านในที่เป็นแก่นมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงดำ เป็นลายด่างสวยงาม เนื้อไม้มีค่าความแข็งประมาณ 135 กิโลกรัม มีค่าโมดูลัสแห่งการแตกร้าวประมาณ 616 กก./ตร.ซม. น้อยกว่าไม้กะบากที่มีค่า 650 กก./ตร.ซม. และเนื้อไม้จามจุรีมีค่าความเหนียวเพียง 1.82 กก.-เมตร น้อยกว่าไม้กะบากที่มีค่า 3.57 กก.-เมตร
- ต้นจามจุรีมีทรงพุ่มกว้าง ใบดก ให้ร่มเงาได้ดีมาก จึงนิยมปลูกเพื่อให้ร่มเงาตามหัวไร่ปลายนา ข้างถนนสำหรับคนเดินทาง สถานที่ราชการสำหรับประชาชน รวมถึงปลูกเป็นไม้ประดับด้วยการตัดแต่งไม่ให้มีลำต้นสูง และแตกกิ่งยาวมากนัก นอกจากนั้น ยังใช้เป็นที่เกาะของเฟริน์ และกล้วยไม้ได้ด้วย
- กิ่งอ่อนของต้นจามจุรีมีเยื่อเปลือกอ่อนที่เป็นอาหารของครั่ง จึงนิยมปลูกสำหรับปล่อยเลี้ยงครั่ง ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีราคาสูง เป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก ต้นจามจุรีที่นิยมใช้เลี้ยงครั่งจะเป็นชนิดดอกสีชมพู เปลือกสีดำ มีใบเขียวเข้ม ชนิดนี้ครั่งจะจับได้ดี และครั่งมีคุณภาพดี เมื่อเก็บครั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะให้คุณภาพในชั้น A และ B เป็นส่วนใหญ่ ผลิตครั้งได้ 5-10 กิโลกรัม/ต้น ที่อายุต้นประมาณ 6 ปี หากต้นมีตั้งแต่ 10 ปี อาจได้มากกว่า 20-50 กิโลกรัม/ต้น ส่วนชนิดอื่นก็สามารถใช้เลี้ยงได้เช่นกัน แต่อาจมีผลผลิตที่ต่ำกว่าเล็กน้อย
- เนื่องจากต้นจามจุรีเป็นพืชในตระกูลถั่ว ใบมีสารอาหารหลายชนิดจึงนิยมนำมาเป็นอาหารสัตว์ เช่น วัว ควาย สุกร แพะ แกะ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังใช้ร่วมกับฝักแก่สำหรับเป็นอาหารสัตว์ เนื่องจากฝักมีรสหวานเป็นที่ชอบของสัตว์บางชนิด เช่น โค กระบือ
- ฝักแก่ สามารถนำมาหมักเป็นเหล้าหรือผลิตแอลกอฮอล์ได้ โดยฝักแก่ที่มีขนาดใหญ่ 100 กิโลกรัม สามารถผลิตแอลกอฮอล์ได้มากกว่า 11 ลิตร
- ฝักแก่ นำเอาเมล็ด และเปลือกออก เหลือเฉพาะเนื้อฝักใช้รับประทานเป็นอาหาร ให้รสหอมหวานมาก รวมถึงนำมาต้มหรือชงเป็นชาดื่มก็ได้
- มีการศึกษาพบสารพิธทิโคโลไบ ในกลุ่มของสารอัลคาลอยด์ ที่พบมากในเปลือก แก่น ใบเปลือกฝัก และเมล็ด เมื่อนำมาสกัดจะได้ฤทธิ์ทำลาย และกดปลายประสาท ใช้ทำยาสลบ
- ใบที่ร่วงจากต้นจามจุรี หากกวาดกองรวมกันจะได้จำนวนมาก นำมาใช้ประโยชน์ทำเป็นปุ๋ยหมักหรือนำไปโรยใต้ต้นไม้ โรยตามไร่ นา ช่วยเป็นปุ๋ยแก่พืชได้
- ลำต้น และกิ่ง ใช้ทำฟืนให้พลังงานสำหรับหุงหาอาหารในครัวเรือน
สรรพคุณจามจุรี
- ราก นำมาต้มดื่ม รักษาอาการท้องร่วง นำมาฝนทาแผล รักษาแผลอักเสบ เป็นหนอง
- ฝักหรือผลสุก นำมารับประทาน ช่วยบำรุงร่างกาย
- ใบนำใบสดมาต้มน้ำดื่ม หรือตากแห้งใช้ชงเป็นชาดื่ม ช่วยรักษาโรคท้องร่วง
- เปลือกต้น มีรสฝาด นำมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคท้องเสีย ท้องร่วง แก้ริดสีดวงทวารหนัก ใช้ฝนหรือบดทารักษาแผล แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ใช้รักษาแก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน นำมาเคี้ยวช่วยลดอาการเหงือกบวม แก้ปวดฟัน
- เมล็ด มีรสฝาด นำมาต้มน้ำดื่มรักษาโรคท้องเสีย ท้องร่วง ใช้ฝนหรือบดทารักษาแผล แผลติดเชื้อ แผลเป็นหนอง ใช้รักษาแก้โรคผิวหนัง กลาก เกลื้อน
อ้างอิง : http://puechkaset.com/ต้นจามจุรี/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น