ต้นเสลา
ต้นเสลา
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Lagerstroemia loudoni Teijsm. & Binn
นิเวศวิทยา : ขึ้นตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบ และป่าชายหาด พบทางตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคตะวันออก และภาคกลางลงไปถึงจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ต้นเสลา เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดนครสวรรค์ บางท้องถิ่นก็เรียก เกรียบ ตะแบกขน ต้นนี้พิเศษตรงพุ่มใบเวลาถึงช่วงออกดอก ต้นจะทิ้งใบทั้งต้น เราก็จะได้เห็นดอกเต็มตา ห้อยย้อยสวยงาม คนเลยนิยมปลูกประดับสวน ปลูกใกล้ๆ บ้านเพื่อให้ร่มเงากับตัวบ้าน ที่น่าสนใจก็คือเป็นไม้โตช้า หมดห่วงเรื่องที่ต้องคอยตัดแต่งกิ่งไปได้เลย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
เสลา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงตั้งแต่ 10 เมตร ถ้าต้นสมบูรณ์ ดินดี น้ำถึง สูงได้ถึง 20เมตร ถึงแม้จะเป็นไม้ยืนต้นทรงพุ่มกลม หนาทึบแต่ก็จะมีช่วงผลัดใบได้เหมือนกัน ลำต้น ถ้าอายุมากๆ จะแตกเป็นริ้วๆ เป็นทางยาวทั้งต้น แต่ถ้าอายุยังน้อยก็จะไม่เห็นลายแตกพวกนี้
ใบและดอก
ใบออกเป็นใบเดี่ยวสลับกัน แผ่นใบใหญ่ ปลายใบเรียวแหลม บนแผ่นใบมีขนนุ่มๆ ทั้งบนใบและใต้ใบ ออกดอกเป็นช่อเป็นกลุ่มก้อนตามปลายกิ่ง ไม่มีกลิ่น ขอบดอกยู่ ย่น ส่วนมากจะออกที่เรือนยอด ดอกมีหลายสี หลายเฉด ต้นเดียวกันบางกิ่งก็มีดอกสีขาวปนมากับสีม่วง หรือบางกิ่งก้สีม่วงอมแดง เสลาจะเริ่มทิ้งใบเดือนธันวาคม พอขึ้นปีใหม่มกราคมก็จะเริ่มทยอยออกดอกจนถึงเดือนมีนาคม เวลาออกดอกเมื่อไหร่ เห็นแต่ดอกเต็มต้นไปหมด ใบไม่เหลือติดต้นเลย ก่อนดอกจะร่วง สีดอกจะค่อยเปลี่ยนเป็นสีออกขาวๆ จากนั้นก็จะร่วงแล้วก็จะให้ผล รูปทรงกลมรี เปลือกแข็ง
สรรพคุณทางสมุนไพร
- เปลือก ฝาดสมานแผล (เปลือกที่แห้งแล้วบดป่นให้ละเอียดเป็นผงแล้วโรยบริเวณที่เป็นแผล)
- แก้ท้องเสีย
ประโยชน์อื่นๆ
- ปลูกเป็นไม้ดอกไม้ประดับ
- เนื้อไม้ ทำเครื่องแกะสลัก ด้ามเครื่องมือ ทำพื้น รอด ตง คาน
การปลูกและดูแลรักษา
ข้อควรระวัง : ต้นเสลาเป็นไม้ยืนต้นสูง ทรงพุ่มแน่น เวลาที่ต้นทิ้งใบเตรียมออกดอก ใบจะร่วงเต็มโคนต้น หลังจากออกดอกแล้วดอกก็จะร่วงตามมาเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นใครที่อยากได้เสลาไปปลูกไว้ที่บ้านก็ต้องทำใจได้กับใบและดอกที่จะร่วงเต็มพื้น
อ้างอิง : https://th.wikipedia.org/wiki/เสลา
http://community.akanek.com/th/green/plant-profile/Lythraceae
https://www.technologychaoban.com/news_detail.php?tnid=409
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น