ต้นหูกวาง

ต้นหูกวาง





ชื่อวิทยาศาสตร์ : Terminalia catappa


ชื่อวงศ์: COMBRETACEAE

ต้นหูกวาง เป็นไม้ยืนต้นที่พบได้ทั่วไปในทุกจังหวัดของไทย นิยมปลูกเพื่อวัตถุประสงค์การให้ร่มเงา และเนื้อไม้เป็นหลัก เนื่องจากมีใบใหญ่ สีเขียวสวยงาม โดยเฉพาะในฤดูการแตกใบใหม่ มักพบปลูกในสถานที่ราชการหรือที่สาธารณะต่างๆ เพื่อให้มีร่มเงาบังแดด

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลำต้น
      ต้นหูกวางเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีลำต้นตั้งตรง แตกกิ่งเป็นชั้นๆในแนวราบ เรือนยอดค่อนข้างกลมหรือเป็นรูปพีระมิดหนาทึบ เปลือกต้นมีสีเทา แตกเป็นร่องตื้นๆ


ใบ     
      ใบหูกวางจัดเป็นใบเดี่ยว มีสีเขียวอ่อนแเมื่อแตกใบใหม่ และเมื่อแก่จะออกสีเหลืองถึงน้ำตาล ใบจะแตกเรียงสลับบริเวณปลายกิ่ง มีรูปไข่กลับด้าน กว้างประมาณ 8-15 เซนติเมตร ยาวประมาณ 12-15 เซนติเมตร ปลายใบมีติ่งแหลม ส่วนโคนใบมีลักษณะสอบแคบ เว้า และมีต่อม 1 คู่ แผ่นใบมีลักษณะหนา และมีขนนุ่มปกคลุม ขอบใบเรียบ ผลัดใบในฤดูหนาว ช่วงเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน


ดอก
     
ดอกต้นหูกวางจะออกเป็นช่อบริเวณซอกใบหรือบริเวณปลายกิ่ง ดอกสีขาวนวล ขนาดเล็ก ประกอบด้วยโคนกลีบเลี้ยงที่เชื่อมติดกัน ส่วนปลายแยกเป็น 5 แฉก รูปสามเหลี่ยม ช่อดอกมีรูปเป็นแท่งยาวประมาณ 8-12 เซนติเมตร ดอกมีสีขาว ไม่มีกลีบดอก ดอกเพศผู้จะอยู่ปลายช่อ โดยมีดอกสมบูรณ์เพศบริเวณโคนช่อ การออกดอกจะอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน และสิงหาคม-ตุลาคม




ผล
     ผลมีลักษณะเป็นรูปไข่หรือรูปรี ป้อม และแบนเล็กน้อย ความกว้างประมาณ 2-5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 3-7 เซนติเมตร มีสีเปลือกผลสีเขียว เมื่อแก่จะมีสีเหลืองออกน้ำตาล และเมื่อแห้งจะเป็นสีดำคล้ำ และเมื่อเนื้อเปลือกหลุดออกหรือย่อยสลายจะเห็นเป็นเส้นใยกระจุกตัวแน่นทั่วผล ผล 1 ผล จะประกอบด้วยเมล็ดเพียง 1 เมล็ด ลักษณะเป็นรูปไข่เรียวยาว คล้ายอัลมอนด์ สามารถรับประทานได้ ให้รสหอม



ประโยชน์ต้นหูกวาง
  • ปลูกเป็นไม้ประดับ จากใบหูกวางที่แตกใหม่มีลักษณะใบใหญ่ สีเขียวอ่อน แลดูสวยงาม และสดชื่น จึงนิยมนำมาปลูกเพื่อวัตถุประสงค์เป็นไม้ประดับนอกเหนือจากการให้ร่มเงา
  •  เนื่องจากเป็นไม้ที่มีทรงพุ่มใหญ่ ประกอบด้วยใบขนาดใหญ่ และมีใบมาก ทำให้เกิดร่มเงาสร้างความร่มรื่นได้เป็นอย่างดี
  •  เนื้อไม้นำมาแปรรูปเป็นไม้แผ่นสำหรับก่อสร้างบ้าน ทำเครื่องเรือน เครื่องดนตรี อุปกรณ์จับสัตว์ เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ เนื้อไม้ที่ได้จากต้นหูกวางที่มีอายุมากจะมีสีแดงหรือน้ำตาลออกดำบริเวณแก่นต้น
  • กิ่ง และเนื้อไม้ขนาดเล็กนำมาเป็นฟืนให้ความร้อนในการประกอบอาหาร
  • ใบนำบดหรือต้มทำสีย้อมผ้า ซึ่งจะให้ทั้งสีเขียวในใบอ่อน และสีเหลืองในใบแก่ รวมถึงราก และผลดิบก็ใช้ในการฟอกย้อมหนัง การผลิตสีดำ และผลิตหมึกสี
  • ใบหูกวางนิยมนำมาแช่น้ำสำหรับเลี้ยงปลากัด เพื่อให้ปลามีสุขภาพดี มีการเจริญพันธุ์ และเจริญเติบโตดี ไม่เกิดโรค ยับยั้งการเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในปลา และช่วยให้ปลากัดมีสีสันสวยงาม สีเข้มสดใส นอกจากนั้น ยังช่วยรักษาระดับความเป็นกรด-ด่างของน้ำ
  • เมล็ดสามารถรับประทานได้ทั้งดิบหรือนำมาต้มสุกหรือเผา
  • เมล็ดสามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันที่มีลักษณะใส ไม่มีกลิ่น มีลักษณะคล้ายนํ้ามันจากอัลมอนด์ ใช้รับประทาน ใช้บำรุงผม ใช้นวดแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รวมถึงใช้ในด้านความสวยความงาม

    สรรพคุณต้นหูกวาง

  • เปลือกใช้ทำเป็นยาฝาด แก้ท้องเสีย โรคบิด โรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร และแก้ซางในเด็ก
  • เปลือกนำมาต้ม ใช้เป็นยาบำรุงเลือด ช่วยให้ประจำเดือนมาปกติ แก้อาการตกขาว และลดกลิ่นในช่องคลอด
  • ในประเทศไต้หวันมีการใช้ใบหูกวางเป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านสำหรับรักษาโรคตับ
  • ใบมีช่วยขับเหงื่อ ลดไข้
  • ใบ และเปลือกรักษาอาการปวดตามข้อ และโรคที่เกี่ยวกับข้อกระดูกต่างๆ
  • ใบ และเปลือกนำมาต้มใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย โดยเฉพาะใบสีเหลืองหรือสีแดงที่ร่วงจากต้นจะให้ผลดีกว่าใบอ่อนบนต้น
  • ใบ และเปลือกนำมาบดทาพอกแผล ลดอาการติดเชื้อของโรค ช่วยสมานแผล ทำให้แผลหายเร็ว
  • ใบ และเปลือกนำมาต้มอาบ ช่วยรักษาแผล รักษาโรคผิวหนังจากเชื้อรา
  • น้ำมันจากเมล็ดใช้ทา นวด ช่วยลดอาการบวด อาการฟกช้ำของกล้ามเนื้อ
  • น้ำมันจากเมล็ดเมื่อนำมาผสมกับใบที่บดละเอียด สามารถใช้รักษาโรคเรื้อน โรคผิวหนังอื่นๆได้
  • เมล็ด ประกอบด้วยไขมัน โปรตีน วิตามิน และสารที่ให้พลังงาน ช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด และบำรุงหัวใจ

การปลูก

     ต้นหูกวางนิยมปลูกด้วยเมล็ดเพียงวิธีเดียว แต่สามารถปลูกด้วยวิธีอื่นได้เหมือนกัน เช่น การปักชำกิ่ง การตอนกิ่ง เป็นต้น
     การเก็บเมล็ดสำหรับนำมาปลูกขยายพันธุ์ ควรเก็บในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่เมล็ดแก่ และเริ่มร่วงพอดี เมล็ดหูกวางที่ร่นตามพื้นจะมีลักษณะใหญ่ มีเปลือกหนาแข็ง และหุ้มด้วยเปลือกผลที่ยังสดอยู่ หากต้องการให้งอกเร็วควรนำมาตากแห้ง และนำมาแช่น้ำก่อนประมาณ 3-5 วันก่อนปลูก
     โดยทั่วไปตามธรรมชาติ เมื่อเมล็ดหูกวางร่นตามพื้นดิน และมีดินหรือวัสดุปกคลุม ร่วมด้วยกับฝนตกจนดินชื้นพอ มักจะพบเมล็ดหูกวางเริ่มงอกให้เห็นเป็นกล้าขนาดเล็ก ซึ่งสามารถตักเมล็ดที่กำลังงอกนี้มาปลูกจะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย และย่นระยะเวลาได้มากขึ้น
     สำหรับการปลูกด้วยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกเมล็ดสดที่เก็บได้จากต้นหรือนำมาตากแห้งก่อน การปลูกจะปลูกในถุงเพาะชำก่อนด้วยการดินผสมกับวัสดุการเกษตร เช่น ปุ๋ยคอก แกลบ ขี้เถ้า ขี้เลื่อย และขุยมะพร้าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ในอัตรา 1:1 หรือ 2:1

อ้างอิง : http://puechkaset.com/ต้นหูกวาง/
             https://th.wikipedia.org/wiki/หูกวาง

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ต้นคริสติน่า

ต้นปาล์มขวด

ต้นไทรย้อย